เรียนภาษาไทยวันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ
“วรรณกรรม” และ “วรรณคดี” กันนะคะ ว่าคำสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร
วรรณกรรม ความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษ คือคำว่า Literature
หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด
และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง
หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว
จะแบ่งวรรณกรรมเป็น ๒ ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ
และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่ วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก
ไม่ได้จดบันทึก
ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง
ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรม เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา
เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น
และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ
ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร ได้แก่
ภาษาพูด โดยการใช้เสียง
ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์
และภาพ
ภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง
หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
ความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ
การใช้ภาษาให้ถูกต้อง ชัดเจน และ เหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้
ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่ง ให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ หรือสวยงามได้
นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรงและยึดถือต่อไป
ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม เรียกว่า นักเขียน นักประพันธ์ หรือ กวี (Writer or Poet)
วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ ๒ ชนิด คือ
๑. ร้อยแก้ว
เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ
๒. ร้อยกรอง
เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย
ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
วรรณคดี หมายถึง
วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์
การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่
๖
วรรณคดี เป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า
สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ
เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะ สามารถ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
วรรณคดีแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
๑. วรรณคดีมุขปาฐะ
คือ วรรณคดี แบบที่เล่ากันมาปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร
เช่น เพลงพื้นบ้าน นิทานชาวบ้าน บทร้องเล่น
๒. วรรณคดีราชสำนัก หรือ วรรรคดีลายลักษณ์
เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระอภัยมณี อิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย
งานเขียนในสมัยใดสมัยหนึ่ง
งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ และผู้อ่านทั่วไป สำหรับในภาษาไทย วรรณคดี
ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
โดยมีความหมายคือ หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี นั้นคือมีการใช้ภาษาอย่างดี
มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ
ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และภาษานั้นให้ความหมายชัดเจน
ทำให้เกิดการโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้คล้องตามไปด้วย กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อผู้อ่าน
ๆ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้นดื่มด่ำ
หนังสือเล่มใดอ่านแล้วมีอารมณ์เฉย ๆ
ไม่ซาบซึ้งตรึงใจและทำให้น่าเบื่อถือว่าไม่ใช่วรรณคดี หนังสือที่ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง
คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม ไม่ชักจูงในทางที่ไม่ดี
การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภท
สามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
วรรณคดีคำสอน
วรรณคดีศาสนา
วรรณคดีนิทาน
วรรณคดีลิลิต
วรรณคดีนิราศ
วรรณคดีเสภา
วรรณคดีบทละคร
วรรณคดีเพลงยาว
วรรณคดีคำฉันท์
วรรณคดียอพระเกียรติ
วรรณคดีคำหลวง
วรรณคดีปลุกใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น