วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

โวหารภาพพจน์

โวหารภาพพจน์
     ความหมายของโวหารภาพพจน์
                      โวหาร  คือ  การใช้ถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง  เป็นการแสดงข้อความออกมาในทำนองต่างๆ  เพื่อให้ข้อความได้เนื้อความดี  มีความหมายแจ่มแจ้ง เหมาะสมน่าฟัง  ในการเขียนเรื่องราวอาจใช้โวหารต่างๆ  กัน  แล้วแต่ชนิดของข้อความ  (สมถวิล  วิเศษสมบัติ. ๒๕๔๔ : ๑๒๙)
                      โวหารภาพพจน์  คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ    เกิดความประทับใจ
เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ  เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน )
 
  ประเภทของโวหารภาพพจน์
  1. อุปมาโวหาร  (Simile)
                        อุปมา  คือ  การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า    “ เหมือน ”    เช่น   ดุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ  เปรียบ  ประดุจ  เฉก  เล่ห์  ปาน  ประหนึ่ง  เพียง  เพี้ยง  พ่าง  ปูน  ถนัด  ละหม้าย  เสมอ  กล  อย่าง  ฯลฯ
 ตัวอย่างเช่น
                                   ปัญญาประดุจดังอาวุธ
                                   ไพเราะกังวานปานเสียงนกร้อง
                                   ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา
                                   จมูกเหมือนลูกชมพู่                    ใบหูเหมือนทอดมันร้อนๆ
                              ปากเธอเหมือนกระจับอ่อนๆ         ฟันเรียงสลอนเหมือนข้าวโพดพันธุ์ดี
                                  
                                    ตาเหมือนตามฤคมาศ                   พิศคิ้วพระลอราช
                             ประดุจแก้วเกาทัณฑ์                           ก่งนา
                                     สูงระหงทรงเพรียวเรียวลูด            งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
                             พิศแต่หัวจรดเท้าขาวแต่ตา                    สองแก้มกัลยาดังลูกยอ
                             คิ้วก่งดังก่งเขาดีดฝ้าย                             จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
                              หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                         ลำคอโตตันสั้นกลม
                             สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว                โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
                             เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม                  มันน่าเชยน่าชมนางเทวี
                                                                          (ระเด่นลันได : พระมหามาตรี (ทรัพย์))
  2.  อุปลักษณ์  ( Metaphor )
                     อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน  แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  มักจะมีคำ เป็น  คือ  มี ๓ ลักษณะ
                                 ๑.   ใช้คำกริยา เป็น  คือ  =   เปรียบเป็น  เช่น  โทสะคือไฟ
                                 ๒. ใช้คำเปรียบเป็น  เช่น  ไฟโทสะ  ดวงประทีปแห่งโลก   ตกเหวรักจะดิ้นรนไปจนตาย
                                  ๓.  แสดงการเปรียบเทียบโดยปริยาย  เช่น  มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่
                     อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง   ที่สำคัญอุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา
ตัวอย่างเช่น                 ขอเป็นเกือกทองรองบาทา    ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย
                                   ทหารเป็นรั้วของชาติ
                                   เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด
                                   เธอเป็นดินหรือเธอเป็นหญ้าแท้จริงมีค่ากว่าใครนิรันดร์
                                   ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
                                   ครูคือแม่พิม์ของชาติ
                                   ชีวิตคือการต่อสู้     ศัตรูคือยากำลัง
3.  สัญลักษณ์  ( symbol )
                     สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ  ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้  เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน
        ตัวอย่างเช่น                  เมฆหมอก          แทน       อุปสรรค
                                          สีดำ                     แทน       ความตาย  ความชั่วร้าย
                                          สีขาว                   แทน       ความบริสุทธิ์
                                          กุหลาบแดง       แทน       ความรัก
                                          หงส์                    แทน       คนชั้นสูง
                                          กา                        แทน       คนต่ำต้อย
                                          ดอกไม้                แทน       ผู้หญิง
                                          แสงสว่าง           แทน       สติปัญญา
                                          เพชร                   แทน       ความแข็งแกร่ง     ความเป็นเลิศ
                                          แก้ว                     แทน       ความดีงาม   ของมีค่า
                                          ลา                        แทน       คนโง่   คนน่าสงสาร
                                          ลา                        แทน       คนพาล    คนคด
                                         สุนัขจิ้งจอก       แทน       คนเจ้าเล่ห์
                                         ยักษ์                     แทน       อธรรม
                       อันของสูงแม้ปองต้องจิต                             ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ
                ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ                                    ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
                ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง                             คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
                ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม                                     จึ่งได้ดอมดมกลิ่นสุมาลี
                                                                                (ท้าวแสนปม : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)
 4.  บุคลาธิษฐาน   (  Personification )
                     บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต  บุคคลสมมติ  คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด   ไม่มีวิญญาณ  เช่น   โต๊ะ  เก้าอี้    อิฐ  ปูน    หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์  เช่น ต้นไม้  สัตว ์   โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้  แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์  ให้มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต   ( บุคลาธิษฐาน  มาจากคำว่า  บุคคล  +  อธิษฐานหมายถึง   อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )
 ตัวอย่างเช่น             มองซิ..มองทะเล               เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน
                             บางครั้งมันบ้าบิ่น                    กระแทกหินดังครืนครืน
                             ทะเลไม่เคยหลับไหล              ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น
                             บางครั้งยังสะอื้น                      ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
 
              ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ          ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้าเองไม่เกรงดินฟ้า
 
                                    ไส้เดือนเที่ยวเกี้ยวสาว                    ชาวอัปสรนอนชั้นฟ้า
                             ทุกจุลินทรีย์อะมีบา                                เชิดหน้าได้ดิบได้
                      เสียงร้องไห้ร่ำหาเหมือนฟ้าร้อง                   พระเสื้อเมืองเมินมองแล้วร้องไห้
                      พระธรณีตีอกด้วยตกใจ                                โลกบาลถอนฤทัยไม่อาจมอง

  5.  อธิพจน์  ( Hyperbole )
                              อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์   ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง   ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน
    ตัวอย่างเช่น                  คิดถึงใจจะขาด
                                      คอแห้งเป็นผง
                                     ร้อนตับจะแตก
                                      หนาวกระดูกจะหลุด
                                     การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า
                                    คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก
                                   เอียงอกเทออกอ้าง           อวดองค์  อรเอย
                             เมรุชุบสมุทรดินลง                   เลขแต้ม
                             อากาศจักจารผจง                      จารึก พอฤา
                             โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                อยู่ร้อนฤาเห็น
 
                                            *ในกรณีที่ใช้โวหารต่ำกว่าจริงเรียกว่า  "อวพจน์"
ตัวอย่างเช่น                  เล็กเท่าขี้ตาแมว
                                   เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว
                                   รอสักอึดใจเดียว
  6.  สัทพจน์  ( Onematoboeia )
                 สัทพจน์  หมายถึง  ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ   เช่น   เสียงดนตรี    เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก  เสียงน้ำไหล   ฯลฯ   การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ
ตัวอย่างเช่น                 ลูกหมาร้องบ๊อก ๆ ๆ     ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ    ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ
                                       เปรี้ยง ๆ  ดังเสียงฟ้าฟาด
                                       ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก      กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์
                                      คลื่นซัดครืนครืนซ่าที่ผาแดง
                                      น้ำพุพุ่งซ่า  ไหลมาฉาดฉาน    เห็นตระการ     เสียงกังวาน
                                มันดังจอกโครม จอกโครม       มันดังจอก  จอก  โครม  โครม
                                     บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว
                                     อ้อยอี๋เอียง  อ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง
                                    เสียงลิงค่างบ่างชะนีวะหวีดโหวย     กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย
                                    ป๊ะโท่นป๊ะโท่นป๊ะโท่นโท่น
  7. นามนัย ( Metonymy )
                      นามนัย  คือ  การใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆ สัญลักษณ์     แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด  หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น                  เมืองโอ่ง                    หมายถึง         จังหวัดราชบุรี
                                   เมืองย่าโม                  หมายถึง         จังหวัดนครราชสีมา
                                   ทีมเสือเหลือง            หมายถึง         ทีมมาเลเซีย
                                   ทีมกังหันลม              หมายถึง         ทีมเนเธอร์แลนด์
                                    ทีมสิงโตคำราม         หมายถึง         อังกฤษ
                                   ฉัตร  มงกุฎ                หมายถึง         กษัตริย์
                                   เก้าอี้                            หมายถึง         ตำแหน่ง  หน้าที่
                                   มือที่สาม                     หมายถึง         ผู้ก่อความเดือดร้อน
                                   เอวบาง                       หมายถึง         นาง  ผู้หญิง
  8.  ปรพากย์  ( Paradox )
                         ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว  อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น                    เลวบริสุทธิ์           บาปบริสุทธิ์
                                     สวยเป็นบ้า           สวยอย่างร้ายกาจ
                                    สนุกฉิบหาย          สวรรค์บนดิน
                                    ยิ่งรีบยิ่งช้า
                                     น้ำร้อนปลาเป็น                น้ำเย็นปลาตาย
                                     เสียน้อยเสียยาก                เสียมากเสียง่าย
                                     รักยาวให้บั่น                     รักสั้นให้ต่อ

                                     แพ้เป็นพระ                       ชนะเป็นมาร 

วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

วรรณคดีและวรรณกรรม

วรรณกรรมและวรรณคดี

เรียนภาษาไทยวันนี้   เรามาทำความรู้จักกับ  “วรรณกรรม”  และ  “วรรณคดี”  กันนะคะ  ว่าคำสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร
          วรรณกรรม  ความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษ คือคำว่า Literature หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่าง  ๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น ๒ ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่  วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก
ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรม  เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร  ได้แก่
ภาษาพูด โดยการใช้เสียง
ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ และภาพ
ภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
ความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ การใช้ภาษาให้ถูกต้อง ชัดเจน และ เหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้ ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่ง ให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ หรือสวยงามได้ นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรงและยึดถือต่อไป ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม เรียกว่า นักเขียน นักประพันธ์ หรือ กวี (Writer or Poet)
วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ ๒ ชนิด คือ
๑.   ร้อยแก้ว เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ
๒.    ร้อยกรอง เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย

            วรรณคดี หมายถึง  วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖
วรรณคดี เป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะ สามารถ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
วรรณคดีแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
๑. วรรณคดีมุขปาฐะ
คือ วรรณคดี แบบที่เล่ากันมาปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เพลงพื้นบ้าน นิทานชาวบ้าน บทร้องเล่น
๒.  วรรณคดีราชสำนัก หรือ วรรรคดีลายลักษณ์   เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระอภัยมณี อิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย
งานเขียนในสมัยใดสมัยหนึ่ง งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ และผู้อ่านทั่วไป สำหรับในภาษาไทย วรรณคดี ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยมีความหมายคือ หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี นั้นคือมีการใช้ภาษาอย่างดี มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และภาษานั้นให้ความหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้คล้องตามไปด้วย กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อผู้อ่าน ๆ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้นดื่มด่ำ หนังสือเล่มใดอ่านแล้วมีอารมณ์เฉย ๆ ไม่ซาบซึ้งตรึงใจและทำให้น่าเบื่อถือว่าไม่ใช่วรรณคดี หนังสือที่ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม ไม่ชักจูงในทางที่ไม่ดี
การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภท สามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
วรรณคดีคำสอน
วรรณคดีศาสนา
วรรณคดีนิทาน
วรรณคดีลิลิต
วรรณคดีนิราศ
วรรณคดีเสภา
วรรณคดีบทละคร
วรรณคดีเพลงยาว
วรรณคดีคำฉันท์
วรรณคดียอพระเกียรติ
วรรณคดีคำหลวง
วรรณคดีปลุกใจ

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

.แนะนำครูผู้สอน

นางสาวรจนา  ปัตถา
ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
โรงเรียนสุวรรณคูหาพิทยาสรรค์  อำเภอสุวรรณคูหา  จังหวัดหนองบัวลำภู
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19